บ้านไม้ริมคลอง อยู่สบายพร้อมหน้า สุขใจกันทุกครอบครัว

SIRIRUK SIRIRUK
Baan Kong ( Grandfather’s house), บริษัท สถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ จำกัด บริษัท สถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ จำกัด Country style house Wood Wood effect
Loading admin actions …

ในอดีตการอยู่อาศัยแบบครอบครัวใหญ่ หรือครอบครัวขยาย มักเป็นเรื่องธรรมดาสามัญทั่วไปสำหรับชาวเอเชีย โดยเฉพาะชาวไทย ซึ่งแม้ลูกหลานจะแต่งงานมีครอบครัวเป็นของตัวเองแล้ว แต่ก็ยังคงอาศัยอยู่ใต้ชายคา ภายในบ้านหลังใหญ่เพียงหลังเดียว แต่แบ่งพื้นที่หรือหับเป็นสัดส่วนสำหรับการอยู่อาศัยในแต่ละครอบครัว 

แต่ด้วยรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป จากครอบครัวใหญ่และการอยู่ร่วมกันระหว่างเครือญาติ กลายมาเป็นวิถีชีวิตแบบครอบครัวเดียว เมื่อลูกหลานแต่งงาน มีครอบครัว หรือแม้แต่เจริญเติบโตอยู่ในวัยทำงานแล้ว ก็มักจะแยกบ้าน ย้ายครัวเรือนของตัวเองออกไปอยู่อาศัยตามลำพัง แต่ก็อาจจะยังไปมาหาสู่กันอยู่บ้าง เวลามีกิจการงานที่ต้องกระทำร่วมกัน บ้านหลังใหญ่แบบครอบครัวขยาย จึงค่อย ๆ เหลือน้อยลงเรื่อย ๆ จนแทบจะกลายเป็นสิ่งปลูกสร้างที่หายากยิ่งในปัจจุบัน

แต่ไอเดียบุคฉบับนี้ ก็เสาะหาจนพบบ้านไม้หลังใหญ่ ที่ยังคงรูปแบบการปลูกสร้างสำหรับอยู่อาศัยร่วมกันหลายครัวเรือน โดยเป็นบ้านไม้ที่ตั้งอยู่ริมคลอง ซึ่งเป็นรูปแบบการตั้งถิ่นฐานแบบดั้งเดิมของชาวไทยในอดีต ที่ผูกพันกับสายน้ำ เลยนิยมตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้แม่น้ำลำคลอง อีกทั้งในอดีตใช้การสัญจรไปมาหาสู่กันทางเรือเป็นหลักด้วยนั่นเอง

โดยบ้านไม้หลังใหญ่แสนสวยและอบอุ่นหลังนี้ ออกแบบและตกแต่งโดยบริษัท สถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ จำกัด ตั้งอยู่ในย่านพระราม 2 ริมคลอง ในลักษณะแบบบ้านเรือนไทยริมน้ำอันแสนเรียบง่าย เป็นบ้านของคุณป้อม-จรัสศรี ศรีบำรุงเกียรติ ซึ่งได้รับที่ดินมาจากความอนุเคราะห์ของสถาบันอาศรมศิลป์ เพื่อออกแบบจัดสรรให้เป็นบ้านพักสวัสดิการของครูในสถาบัน เพื่อให้ครูมีบ้านบนที่ดินของตัวเองได้ในราคาต้นทุนและใช้ชื่อว่า ‘บ้านบางครุ’ แปลว่า บ้านพักครู

มุมมองแสนตรึงตาจากหน้าบ้าน

บ้านไม้ทรงแบบบ้านเรือนไทยริมน้ำ สถาปนิกผู้ออกแบบและตกแต่งอ้างอิงแนวคิดในการก่อสร้างมาจากเรือนไทยริมแม่น้ำ อันเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวไทยในอดีตที่มีความผูกพันกับสายน้ำเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังมักนิยมจะอยู่อาศัยรวมกันแบบครอบครัวใหญ่ และขยายครอบครัวออกเรื่อย ๆ เมื่อลูกหลานหรือสมาชิกภายในครอบครัวเริ่มมีครอบครัวเป็นของตัวเอง ก็จะต่อเติมหรือขยายขนาดของบ้านให้ใหญ่ขึ้น หรือปลูกสร้างบ้านในอาณาบริเวณใกล้เคียงกัน เพื่อจะได้คอยพึ่งพาอาศัย คอยช่วยเหลือกันและกันอยู่อย่างใกล้ชิด 

โดยบ้านไม้หลังใหญ่ที่ก่อสร้างได้อย่างสวยงามจนไม่อาจละสายตาจากได้เลยหลังนี้ ผ่านการออกแบบอย่างผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาของบ้านไทยในอดีต กับเทคโนโลยีการก่อสร้างอันทันสมัยในปัจจุบัน มีขนาดใช้สอยรวม 450 ตารางเมตร 

จากภาพจะเห็นการผสมผสานกันระหว่างวัสดุหลักของโครงสร้าง 2 ชนิด คือไม้และปูน เพื่อเสริมโครงสร้างให้แข็งแรง และตอบโจทย์ในการใช้งานในในแต่ละพื้นที่อย่างเกิดประโยชน์มากที่สุด  

วิถีแบบไทยใกล้ชิดสายน้ำ

จากมุมนี้จะสัมผัสได้ถึงความใส่ใจในการออกแบบบ้านให้สามารถใกล้ชิดกับแม่น้ำลำคลอง ตามอย่างวิถีดั้งเดิมของชาวไทย ที่มีความผูกพันกับสายน้ำมาช้านาน ไม่ว่าจะกระทำการใด โดยเฉพาะการตั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ก็จะต้องอยู่ใกล้กับแม่น้ำลำคลอง 

โดยบ้านหลังใหญ่จะมีระเบียงกว้างทอดตัวยามตลอดแนวความยาวของตัวบ้าน อยู่บนชั้น 2 ซึ่งเป็นมุมที่สามารถเต็มอิ่มกับภาพของสายน้ำได้ทุกโมงยาม ทั้งยังมีศาลาท่าน้ำไว้พักผ่อนอีกมุมหนึ่ง และปลูกต้นไม้ไว้รอบบ้าน ทั้งไม้ใหญ่ให้ร่มเงาได้ทั่วถึง และไม้น้อยใหญ่ ที่ให้ความสดชื่น และความใกล้ชิดกับธรรมชาติ 

นั่งเล่นแสนสบายตรงชานบ้าน

ชานบ้านกว้างที่ทอดยาวไปตามแนวยาวของตัวบ้าน จัดวางเก้าอี้ไม้แบบพับเก็บได้ สามารถยกไปตั้งตรงมุมไหนตามใจปรารถนาก็ได้ โดยภายใต้ชายคาบ้านคลุมมาถึงกึ่งกลางของชานบ้านกว้าง ทำให้สามารถนั่งพักผ่อนได้อย่างสบายตามใจปรารถนา แสงแดดไม่เป็นปัญหา แถมยังได้ไอเย็นสบายจากลมที่พัดมาจากลำคลอง และยิ่งรู้ปลอดโปร่งโล่งสบายมากยิ่งขึ้น เมื่อมีต้อนไม้น้อยใหญ่ปลูกอยู่รายรอบ 

ห้องนอนอันแสนอบอุ่น

ภายในห้องนอนเลือกผ้าทอมือสีขาวสะอาดตาปูทาบบนเตียงนอน เข้ากับผ้าม่านพลิ้วไหวสีขาว ที่ช่วยบดบังแสงแดดจ้าในช่วงเวลาที่แดดอาจจะจัดเกินไป แต่ยังอยากพักผ่อนต่ออีกสักหน่อย ก็สามารถใช้ม่านช่วยลดความแรงของแสงสว่างได้ บริเวณหัวนอนมีชั้นแบบบิวท์อินขนาดเล็ก ไว้สำหรับจัดวางสิ่งของเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือของประดับตกแต่งที่เจ้าของห้องชื่นชอบ กับติดภาพวาดแบบไทย ๆ ช่วยแต่งแต้มให้บรรยากาศอบอุ่นและสบายเหมาะแก่การพักผ่อนยิ่งขึ้นไปอีก

ทางเดินบันไดและโครงสร้างภายใน

ภายในบ้านยังคงเลือกใช้วัสดุแบบผสมผสานระหว่างไม้กับปูน โดยใช้ปูนฉาบแบบเปลือย แสดงให้เห็นถึงความประณีตละเอียดอ่อนของช่างปูนมากฝีมือ เป็นฐานในชั้นล่าง ส่วนบริเวณชั้นสองใช้ไม้เป็นวัสดุหลัก ทั้งในส่วนของผนังกั้นแบ่งพื้นที่ใช้สอย กรอบบานหน้าต่าง ราวบันไดที่มีเหล็กเข้ามาช่วยเติมเต็ม และพื้นไม้ขัดมัน

อีกหนึ่งมุมนั่งเล่น

เมื่อผ่านบันไดขึ้นมาสู่ชั้นสองจะพบกับอีกหนึ่งมุมนั่งเล่นแสนสบาย ซึ่งจัดไว้ให้สำหรับสมาชิกทุกคนในครอบครัว สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ โดยมีเก้าอี้ไม้จัดวางอยู่บนพื้นไม้ขัดมันวาว 

มุมพักผ่อนแสนสบาย

มุมพักผ่อนแสนสบายมุมนี้ยังคงอยู่บนชั้นสอง จัดวางหมอนสีสันสดในหลายใบให้อารมณ์ของดีไซน์แบบร่วมสมัย ผสมผสานกับความงดงามของบ้านไม้แบบไทย เฟอร์นิเจอร์หลักยังคงเป็นงานไม้ทั้งหมด เช่นเดียวกับส่วนประกอบอื่น ที่มองยังไงก็ยังไม่อาจละสายตาจากได้อย่างง่ายดาย

ใต้ถุนบ้าน

ส่วนของใต้ถุนเรือน เดิมทีออกแบบอย่างบ้านไม้เรือนไทยทั่วไป ที่มักจะยกพื้นให้สูง เพื่อป้องการน้ำท่วม เนื่องจากตั้งอยู่ริมแม่น้ำลำคลอง อันเป็นธรรมดาและธรรมชาติในช่วงฤดูน้ำหลากหรือน้ำมากอยู่แล้วที่อาจจะเกิดการท่วมขัง ภูมิปัญญาการสร้างบ้านเรือนแบบไทย จึงยกพื้นบ้านให้สูงไว้ ต่อมาได้มีการต่อเติมพื้นที่บริเวณใต้ถุนบ้าน โดยเจ้าของบ้านใช้สำหรับพักผ่อน รับประทานอาหาร และทำกิจกรรมหลากหลายอย่าง โดยมีครัวเปิดแบบไทยต่อเติมออกไปอย่างเป็นสัดเป็นส่วน 

Client : Jarassri Sribamrungkiat , Architect : Nuntapong Lertmaneetaweesap , Structural Engineer  : Derek Seedeang , Photographer : Sitthisak Namkham, Akeanan Janeium, Sanchai Loongroong, Baan lae suan

Need help with your home project?
Get in touch!

Highlights from our magazine